ยินดีต้อนรับเข้าสู่..........เว็บไซต์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  
 
 
 

ประเภทของการท่องเที่ยว

   

 1. แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (Natural Attractions) 
     หรือที่เกิดจากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ประกอบด้วย สภาพภูมิอากาศ (climate) ทิวทัศน์ที่สวยงาม (Scenery) และสัตว์ป่า (Wildlife) นับได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากที่สุด แต่แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวเหล่านี้จะต้องได้รับการดูแลและบำรุงรักษาเป็นอย่างดีจากทุก ๆ ฝ่าย เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจทำลายความงามอันทรงคุณค่าเหล่านี้ได้ลง
     -   ทิวทัศน์ (Scenery) ทิวทัศน์ทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่สวยงาม ประหลาด แปลกตาไปจากที่เคยพบเห็นในท้องถิ่นของตนเอง จะสามารถเป็นสิ่งดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม
     -  สัตว์ป่า (Wildlife) สัตว์ป่าเป็นส่วนหนึ่งของความงามตามธรรมชาติที่ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมและเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจ
     -   สภาพภูมิอากาศ (Climate)  แสงแดด เมฆหมอก ความอบอุ่น หรือหิมะตกในฤดูหนาว ตลอดจนลักษณะอากาศที่แตกต่างไปจากถิ่นเดิมของตน จะเป็นสิ่งจูงใจทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวได้
     -   ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ (Natural Phenomenon) ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่มีอยู่เป็นปกติหรือนาน ๆ ครั้งจะเกิดขึ้น สร้างความตื่นเต้นและประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวได้

 

   


2. แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Manufactured Attractions) 
    เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ตรงกันข้ามกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เมืองขนาดใหญ่ ๆ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เข้าไปเที่ยวชมสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ ศาสนสถาน สถานที่ราชการก่อสร้างขึ้น เช่น พระราชวังหรืออาคารเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาที่สำคัญ
     -  ประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุ โบราณสถานและศาสนา เป็นสิ่งที่แสดงถึงอารยธรรมความเจริญก้าวหน้าในอดีต ภูมิปัญญาของคนในอดีต บางแห่งบ่งบอกถึงเรื่องราววีรกรรมของวีรบุรุษ วีรสตรีในการปกป้องรักษาชาติบ้านเมืองไว้สำหรับคนรุ่นหลัง เช่น ปราสาทหิน พระราชวัง โบราณสถาน และพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ
     -  ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและกิจกรรม  เป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีความแตกต่างกันไปตามระบบของสังคม ความเชื่อ และการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมของแต่ละกลุ่มชน ทรัพยากรการท่องเที่ยวประเภทนี้มักจะเป็นลักษณะของพิธีกรรม งานประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่
     -   กีฬาต่าง ๆ การแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ ทั้งกีฬาพื้นบ้านและกีฬาสากล  สามารถจูงใจนักท่องเที่ยวเพื่อไปชมความสนุกสนานได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ
     - สถานที่เชิงเทคนิคและอุตสาหกรรม  เป็นสิ่งก่อสร้างที่แสดงออกถึงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของท้องถิ่นนั้น เช่น เขื่อน สถานีอวกาศ สถานีทดลองการเกษตร ฯลฯ สถานที่ท่องเที่ยวประเภทนี้บางแห่งต้องขออนุญาตก่อนเข้าเยี่ยมชมกิจการ  
     -  กิจกรรมบันเทิง  กิจกรรมบันเทิงที่สามารถดึงดูดความสนใจแก่นักท่องเที่ยว เช่น ดิสโกเธค ไนท์คลับ  บ่อนกาสิโน โชว์การแสดงแสงสีเสียง ตลอดจนเรือสำราญ  ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่นิยมและเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการอย่างมหาศาล
     -   สวนสาธารณะ  สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ต้องมีการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมของสวนสาธารณะนั้น ให้สวยงามและมีสภาพแวดล้อมที่ดีอยู่เสมอ ก็จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวตลอดทั้งปี 
     -  สวนสนุก  สิ่งที่สำคัญ คือ จะต้องมีการให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้เข้าชม มีการตอบสนองแก่ทุกเพศทุกวัย เปลี่ยนแปลงรายการแสดงหรือพัฒนาอุปกรณ์เครื่องเล่นที่ทันสมัยอยู่เสมอ ตลอดจนบริการอาหารและเครื่องดื่มสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
     - ศูนย์การค้าและของที่ระลึก  สินค้าที่สวยงาม ลักษณะแปลกตา มีการห่อบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกแก่การพกพา จะดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าได้มากขึ้น

   

3. แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต      
    การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หมายถึง แหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่าทาง ศิลปะและขนบธรรมเนียมประเพณีที่บรรพบุรุษได้สร้างสมและถ่ายทอดเป็นมรดกสืบทอดกันมา แหล่งท่องเที่ยวประเภทนี้ประกอบด้วย งานประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน การแสดงศิลป - วัฒนธรรม สินค้าพื้นเมือง การแต่งกาย ภาษา ชนเผ่า เป็นต้น ตัวอย่างของแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย ในประเภทนี้ได้แก่ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก งานแสดงของช้างจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ดร.ไกรฤกษ์ ปิ่นแก้ว ได้ให้ความหมายของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นการศึกษาหาความรู้ในพื้นที่หรือบริเวณที่มีคุณลักษณะที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มีการบอกเล่าเรื่องราวในการพัฒนาทางสังคมและมนุษย์ผ่านทางประวัติศาสตร์ อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม องค์ความรู้และการให้คุณค่าของสังคม โดยสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าหรือสภาพแวดล้อมอย่างธรรมชาติ ที่สามารถแสดงออกให้เห็นถึงความสวยงามและประโยชน์ที่ได้รับจากธรรมชาติ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม หรือขนบธรรมเนียม ประเพณี แต่ละประเทศต่างก็มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางสังคมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งที่เป็นรูปธรรมที่แสดงออกทางด้าน ลักษณะความเป็นอยู่ของผู้คน ภาษา เทศกาล ประเพณี พิธีกรรมทางศาสนา ศิลปะหัตถกรรม การแต่งกาย การละเล่นและการ บันเทิงต่าง ๆ สภาพบ้านเรือน ฯลฯ และที่เป็นนามธรรม ที่แสดงออกทางด้านความคิด ความเชื่อ ทัศนคติภูมิปัญญาชาวบ้าน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือ ทรัพยากรการท่องเที่ยวทั้งสิ้น เนื่องจากสามารถตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นสิ่งที่แปลกแตกต่าง ของ นักท่องเที่ยวได้ ทรัพยากรการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมและสังคม เทศกาลงานประเพณี ยังหมายรวมถึง “อัธยาศัยไมตรีและการต้อนรับ” ของผู้คนในท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้หากนักท่องเที่ยว เกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับการต้อนรับจากคนในท้องถิ่นแล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ หรือทิวทัศน์ใด ๆ ก็ไม่สามารถ ดึงดูดให้ นักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่นั้นต่อไป การแสดงออกซึ่งการต้อนรับนักท่องเที่ยวสามารถทำได้หลายรูปแบบ ตัวอย่าง การกล่าวคำ ทักทายสวัสดี “Swatdee” ของคนไทยที่นำมาใช้จนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้อัธยาศัยไมตรีการต้อนรับของผู้คนในท้องถิ่น ก็นับเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวหลักที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น “ยิ้มสยาม ” หรือ “ความเอื้ออาทรในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ” ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่เคยมาประเทศไทยแล้วกลับมาเยือนซ้ำอีก

    การท่องเที่ยวเชิงนิเวศจึงเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวช่วยส่งเสริมธรรมชาติศึกษาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนี้จะช่วยสร้างรายได้ ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งรัฐจะสามารถนำมาใช้ในโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างงานให้กับประชาชนในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มรายได้ เมื่อประชาชนในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการท่องเที่ยวก็จะช่วยลดความจำเป็นในการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อดำรงชีพ และที่สำคัญมันคือวิธีการหนึ่งที่จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินควบคู่กันไปได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)


 
 
 

free counter
 
   เว็บไซต์นี้ เป็นผลงานของรายวิชา โครงการ (2204-8501) สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานีครูที่ปรึกษา ครูสุดฤดี ประทุมชาติ ปีการศึกษา 2563